15 กรกฎาคม 2551

ทางออกของรัฐบาล

ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคดีความต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐมนตรีหลายคนพ้นจากตำแหน่ง ประกอบกับกระแสกดดันหลายด้าน ในที่สุด นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศผ่านรายการสนทนาประสาสมัคร ที่ออกอากาศแพร่ภาพทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่าจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งใหญ่ ในเร็ว ๆ นี้ หลายตำแหน่ง เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลแข็งแรงขึ้น โดยจะดึงคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมงาน แต่ในเวลาเดียวกันก็ยอมรับว่า บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถและเป็นคนดี ไม่กล้าร่วมงานเพราะเกรงจะทำงานไม่ครบวาระ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 ที่ระบุว่า หากกรรมการบริหารพรรคกระทำความผิด จะส่งผลให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบ โดยจะเสนอแก้ไขทันทีเมื่อเปิดการประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีอ้างว่าปัญหาทางการเมืองเวลานี้ มีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความเห็นและแนวทางที่เป็นไปในทางเดียวกับที่พรรคพลังประชาชนจะดำเนินการในช่วงต่อจากนี้ การปรับคณะรัฐมนตรี และความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญเป็นสาเหตุของปัญหาทางการเมืองและร่างขึ้นภายหลังการรัฐประหารนั้น อาจเป็นความเห็นของพรรคพลังประชาชนหรือพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังเผชิญเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังถูกตรวจสอบ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้แก้ไขจุดอ่อนที่มีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยสาระส่วนหนึ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม และเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติได้ความเห็นชอบจากประชาชนข้างมากมาแล้ว สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญเน้นบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองและตรวจสอบอำนาจรัฐ กับให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปกครอง มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด การปฏิบัติหรือวางตนที่ฝ่าฝืนก็ต้องพ้นจากหน้าที่ออกไป อันเป็นหลักการที่ชอบแล้ว การนี้แทนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรแก้ไขที่ตนเองด้วยการเลือกคนดีมีความพร้อมและเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่เพื่อสร้างผลงานอย่างมีประสิทธิภาพจะดีกว่า ส่วนที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอยากจะแก้ไข ก็ไม่ควรผลีผลามทำเพราะเชื่อว่ามีเสียงข้างมากในสภา แต่น่าจะหวนกลับไปทำประชามติถามประชาชนเสียก่อน มิฉะนั้นอาจเกิดความยุ่งยากซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก.

ที่มา เดลินิวส์ ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2551

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

จ้า

จะรอดูแล้วกันว่าจะปรับเมื่อไร

คนที่พ้นตำแหน่งไปอ่ะ

ออกโดยเหตุผลจิงหรือว่าถูกให้ออกกันแน่

ความแน่ชัดความแน่นอนไม่เห็นจะมีเลย

จะเชื่อกันได้ไหมเนี่ย

ปรับก็รีบปรับ

ความมั่นคงของประเทศชาติรออยู่

คุณคือตัวแทนของประชาชน

ก็ควรทำหน้าที่ให้ดี

อย่ามัวแต่มาทะเลาะกันอยู่

.....@_*.....

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รัฐบาลอย่ามัวแต่คอยจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ

สนใจปัญหาปากท้องประชาชนบ้าง