10 กรกฎาคม 2551

ปรากฏการณ์ชี้ชะตาการเมืองใหม่

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองอีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในตอนเช้า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญลงมติเอกฉันท์ว่า แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 และศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 8 ต่อ 1 ว่า เมื่อเป็นหนังสือสัญญาก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงถือว่าแถลงการณ์ร่วมฯ นี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เกิดขึ้นในตอนเย็น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษายืนตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้ใบแดงแก่นายยงยุทธ ติยะไพรัช พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ทั้งสองปรากฏการณ์นี้ ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนพรรคพลังประชาชน เนื่องเพราะเหตุการณ์แรก มีการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ย่อมต้องมีผู้รับผิดชอบ คือนายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ เพียงคนเดียวก็ดูกระไรอยู่ เพราะแถลงการณ์ดังกล่าวได้มีการหารือในคณะรัฐมนตรีก่อนจะได้รับความเห็นด้วย ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ถึงความรับผิดชอบร่วม ส่วนเหตุการณ์ที่สอง เป็นการยืนยันการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ซึ่งเป็นถึงแกนนำของพรรคพลังประชาชน ซึ่งกฎหมายระบุว่า หากผู้บริหารพรรคการเมืองมีส่วนกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อาจส่งผลให้พรรคการเมืองนั้น ถูกตัดสินยุบพรรคได้ กล่าวได้ว่าทั้งสองปรากฏการณ์นี้ ถือเป็นอีกครั้ง หนึ่งที่กระบวนการตุลาการภิวัตน์ ได้เข้ามา มีบทบาทตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งหลักการบริหารราชการแผ่นดินได้แบ่งแยกอำนาจไว้3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี และฝ่ายตุลาการ คือ ศาลสถิตยุติธรรม ที่ผ่านมาเราได้เห็นการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารไปแล้ว จากการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 7 คน แต่ในครั้งนั้นก็มิได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอันใดน่าจับตายิ่งกับการแสดงความรับผิดชอบของนายก รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคพลังประชาชน ที่จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง การตัดสินใจประกาศยุบสภา หรือ การลาออก หรือถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล หรือการเตรียมหาพรรคการเมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็น วิธีใดล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนที่กำลังเผชิญมรสุมเศรษฐกิจ คาดหวังว่า คำตอบสุดท้ายของการฝ่าวิกฤติบ้านเมืองครั้งนี้ จะเป็นการสรรค์สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนส่วนรวม.
ที่มา เดลินิวส์ ประจำวันวันที่ 10 กรกฎาคม 2551

6 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

''งงอ่ะ

ทามไมเป็งแบบนี้ชักจะไม่เข้าใจเลยอ่ะ


เมื่อไรเรื่องจาจบสักทีอ่ะ


ขอให้จบเร็ววววววววววน๊า

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อืมจบเร็วๆๆนะ

จะได้รู้สักทีว่าประเทศชาติเปงไง

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การเมืองสั่นคลอน

ประเทศชาติสั่นไหว

ไร้ซึ่งความมั่นคง

อยากให้จบเร็วๆจัง

ประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อนอีก

แต่อย่างว่าแหละ อเมริกาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมากเป็นร้อยปี กว่าจะมั่นคง เหมือนดั่งทุกวันนี้ จะนับอะไรกับประเทศไทย ที่เพิ่งจะมีการปกครองระบอบนี้มาแค่ "76ปี" ของแบบนี้ต้องใช้เวลา

แต่....เมื่อไรหล่ะที่จะเป็นเวลาของเราบ้าง จะต้องให้รอเป็นร้อยปีรึป่าว????

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เมื่อไหร่ความวุ่นวายต่าง ๆ จะหยุดซักทีนะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ตกลงฝ่ายไหนดีกันแน่คะเนี่ย ที่ผ่านมาเค้าทำเพื่อใคร (เพื่อตัวเอง หรือ ประชาชน)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

การเมืองเปนเรื่องที่ละเอียดอ่อน
เห้อ

การเมืองไทย เมื่อไรจะสงบ.....